In translate: ไม่มีลูกเป็นการตัดสินใจทางศีลธรรมหรือไม่?
โดย DEREK
BERES วันที่ 23 ตุลาคม 2017
เนื่องด้วยประชากรมนุษย์ทั่วโลกกำลังพุ่งสูงขึ้น
ทำให้เกิดการแข่งขันและความทุกข์ยากเพิ่มมากขึ้น
แต่ก็ยังมีนักปรัชญาบางคนคนที่หาทางออกให้กับปัญหานี้
ในปี 2558 นิตยสาร the Atlantic ได้ตีพิมพ์บทวิจารณ์ชุดบทความที่ชื่อ
ความเห็นแก่ตัว ความตื้นเขินและความสนใจแต่เรื่องของตัวเอง
บทความแต่ละฉบับถูกเขียนขึ้นโดยนักเขียนชายหญิงที่ตัดสินใจว่าจะไม่มีลูก
ซึ่งนำไปสู่ความคิดเห็นเชิงบวกและเชิงลบจำนวนมหาศาลจนต้องเพิ่มบทความใหม่อีกหนึ่งบทความ
ในบทวิจารณ์ของ Sophie Gilbert เธอได้เสนอแนวคิดที่สำคัญปนกระอักกระอ่วนว่า
“ต้องขอขอบคุณความสำเร็จของงานเขียนต่างๆ ในปี 2015 เป็นอย่างยิ่ง
การพูดถึงการถูกทำร้ายร่างกายโดยคู่ครองเป็นเรื่องที่ยอมรับได้มากกว่าการแสดงเจตจำนงของตนอย่างจริงใจและเปิดเผยว่าไม่อยากมีลูกเสียอีก”
ผู้แสดงความคิดเห็นคนหนึ่งกล่าวว่าในบางสถานการณ์
การมีลูกคือการกระทำที่เห็นแก่ตัว โดยคำพูดนี้มาจากคนที่มีลูกสอง ความวิตกกังวล
การเงิน การนอน ความรับผิดชอบ
ทุกคำถูกกล่าวออกมาจากผู้ใหญ่ที่รู้ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ฝ่ายที่อยากมีลูก
แต่คำพูดที่กล่าวมาไม่ได้ทำให้ความรู้สึกดีๆ ต่อการที่มีหลานชาย หลานสาว
หรือการที่มีเด็กๆรายล้อมพวกเขาลดทอนลงเลย
พวกเขาเพียงแค่รู้สึกว่าไม่อยากมีลูกเท่านั้นเอง
บางคนแสดงความคิดเห็นว่าการไม่มีลูกเป็นทางเลือกที่มีศีลธรรม
โดยแนวคิดนี้ได้รับการถ่ายทอดออกมาโดยศาสตราจารย์ David
Benatar จากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์
หลังจากที่เขาตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการต่อต้านการกำเนิด เขากล่าวว่า
ไม่ควรมีใครให้กำเนิดไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ในปี 2006 เขาได้รับจดหมายแสดงความไม่พอใจและจดหมายข่มขู่มากมาย แต่ Benatar ไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีความคิดเช่นนี้ ยังมี Sophocles, Schopenhauer รวมถึงศาสนาพุทธบางนิกาย และศาสนาฮินดู ที่สนับสนุนความคิดอย่างเขา
นักปรัชญาสมัยก่อนไม่สามารถจินตนาการถึงภาพที่คุณแม่ที่เดินเข็นลูกที่ ย่านพาร์กสโลป(ย่านกิจกรรมของเด็กๆในเมืองนิวยอร์ก) หรือชาวคริสเตียนผู้เคร่งครัดที่สร้าง “ก๊อดอาร์มี
(Army of God: AOG)” ขึ้นมาในอเมริกายุคใหม่ได้
ทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีความแตกต่างกัน
พวกเขาเชื่อว่าการมีลูกช่วยสร้างตัวตนและช่วยเปลี่ยนความเข้าใจในตัวเองของคุณ
ผลักดันคุณให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มสังคมของพ่อแม่ที่มีแนวความคิดเดียวกัน ที่ว่าเด็กๆเป็นส่วนหนึ่งของธรรมแห่งชีวิต และการต่อต้านธรรมชาตินี้ถือเป็นเรื่องผิด
พวกเขามองว่า การเอาชีวิตรอดเป็นเกมที่อยู่ในกรรมพันธุ์ของเรา
เป็นเกมที่ทุกชีวิตต้องเล่นไม่ว่าจะเป็น แมวและสุนัข
และพืชเช่นข้าวสาลีและข้าวโพด ธรรมชาติไม่ใช่เสาหินที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
แต่เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
มนุษย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ เด็กๆ จึงถือเป็นสื่อกลางในการทำภารกิจแห่งการอยู่รอดนี้
Benatar ตระหนักถึงปริศนาทางชีววิทยานี้และสนับสนุนแนวคิดการต่อต้านการกำเนิด
เขากล่าวว่า
“ถึงอย่างไรการต่อต้านการกำเนิดก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะ
[การต่อต้านการกำเนิด] เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับความคิดดั้งเดิม
ดังนั้นคนที่มีความคิดควรหยุดและไตร่ตรองมากกว่าที่จะผลักไสเพราะว่านี่เป็นเรื่องที่บ้าคลั่งหรือชั่วร้าย”
แนวคิดการต่อต้านการกำเนิดไม่เป็นสิ่งที่อันตราย
ปัญหาที่แท้จริงคือการเพิ่มจำนวน ลองพิจารณาประชากรโลกดูว่า มีคนราว 170-400 ล้านคนที่มีชีวิตอยู่ในปี ค.ศ. 1 พันปีต่อมาก็ยังเหมือนเดิม
แต่จำนวนคนเพิ่มขึ้นถึง 600 ล้านในปี ค.ศ. 1700 และเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านคนในปีค.ศ. 1900 ตอนนี้มีคนสูงถึง 7.6 พันล้านคนโดยใช้เวลาเพียงหนึ่งศตวรรษ
และมีการคาดการณ์ว่าจะมีประชากรถึง 11.2 พันล้านคนในปี 2100 ซึ่งด้วยจำนวนคนที่มากมายขนาดนั้น แน่นอนว่ามันจึงเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน
แต่เราไม่ได้คิดเป็นภาพใหญ่
เราคิดถึงเพียงแค่รอบๆ ตัวเราและแง่มุมที่ดีของการเพิ่มจำนวนในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น
โชคไม่ดีที่ความคิดนี้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
ทำให้จำนวนประชากรโลกเพิ่มทวีคูณในช่วงเวลาสั้นๆ
บางครั้งการเติบโตแบบนี้ก็เรียกว่า "มะเร็ง" ซึ่งอาจฟังดูรุนแรงไปบ้าง
แต่ก็สมเหตุสมผลเมื่อลองสมมติดูว่าประชากรโลกมีจำนวนประชากรคงที่เท่ากับตอนนี้และมีอายุไขอยู่ที่สองร้อยปี
มนุษย์จะใช้ทรัพยากรโลกจนหมดไปภายในเวลา 250,000 ปีเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตามการโต้เถียงของ Benatar หลักๆ แล้วจะเกี่ยวกับความทุกข์ ชีวิตคือ “สถานะของการดิ้นรนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” ซึ่งเป็นความจริงทางชีวภาพและสังคมของเรา คำเปรียบเปรยเกี่ยวกับมะเร็งในข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการดิ้นรนของ Benatar จึงไม่ใช่สิ่งที่เกินกว่าเหตุเลย
“ชีวิตนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าที่คนทั่วไปคิด
และมีแรงผลักดันอันทรงพลังที่จะมีชีวิต ไม่ว่าชีวิตจะแย่มากขนาดไหน
ผู้คนอาจใช้ชีวิตไม่คุ้มค่ากับการเริ่มโดยที่ไม่ตระหนักว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ”
เป็นความจริงที่ว่าพวกเราหลายคนให้คุณค่าแก่อนาคตของตนเองมากเกินไป
และเขียนอดีตของเราขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เรื่องเล่าของเราเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
พิจารณาดูว่าโรควิตกกังวลเป็นโรคอันดับหนึ่งของโลก (อันดับสองคือโรคซึมเศร้า
ซึ่งมีความคล้ายกันกับโรควิตกกังวลในทางสรีรวิทยา)
และชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่หนึ่งในหกคนใช้ยาเพื่อต่อสู้กับโรคนี้
ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงต้องฉุกคิดได้แล้วว่าเรากำลังเผชิญกับสิ่งใด
และพวกเรากำลังปกปิดอะไรไว้
ความต้องการที่เดือดพล่านของพวกเรานั้นตกเป็นจำเลยในข้อหานี้
นี่ก็เป็นมรดกทางชีววิทยาและระบบประสาทของเราเช่นเดียวกัน
การยึดติดคือมารทางพระพุทธศาสนาที่สามารถกำราบได้โดยการเจริญภาวนาและการดำเนินชีวิตตามครรลองคลองธรรม
และมีสัมมาทิฐิ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า
เมื่อมนุษย์มีปัจจัยสี่ครบแล้วความต้องการของเราจะถูกขยายขนาดขึ้น
ซึ่งในปัจจุบันประกอบด้วยการเสริมเติมแต่งส่วนต่างๆ ของร่างกาย
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหรูจากนักออกแบบต่างๆ อาหาร “เพื่อสุขภาพ” และเทคโนโลยีที่ฝังลงบนผิวหนังของเรา
ในทุกๆ
ขั้นเราต้องการสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการและความไม่พึงพอใจที่มากขึ้นของเรา
เมื่อเราไม่พึงพอใจ พฤติกรรมที่หุนหันพลันแล่นและพฤติกรรมก้าวร้าวก็จะตามมา
"อันตรายที่มนุษย์ทำกับมนุษย์ผู้อื่นไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด
ชีวิตประจำวันของเราเต็มไปด้วยความไม่ซื่อสัตย์ การทรยศ ความประมาท ความทารุณ
ความเจ็บปวด ความใจร้อน การเอาเปรียบ การทรยศต่อความเชื่อใจ และการละเมิดความเป็นส่วนตัว
แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ฆ่าหรือทำร้ายร่างกาย
แต่ก็สามารถทำให้เกิดความเสียหายด้านจิตใจและด้านอื่นๆ ได้ ด้วยการทำร้ายแบบต่างๆ
เหล่านั้น ทุกคนก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้กระทำความผิดไม่มากก็น้อยด้วยเช่นกัน"
Benatar ยังกล่าวต่อไปอีกว่า หากเราทรมานสมาชิกในสายพันธุ์ของเรา
เราจะกลายเป็นอมนุษย์เต็มตัว (หรืออาจเป็นมนุษย์เต็มตัว) สัตว์บก 63 พันล้านตัวและสัตว์น้ำ 103,000 ล้านตัวถูกฆ่าเพื่อบริโภคทุกปี Benatar ประเมินว่าทุกคนรับผิดชอบต่อการตายของสัตว์ 27 ตัวในแต่ละปี คิดเป็นประมาณ 1,690 ตัวในช่วงชีวิตของเรา
การทานมังสวิรัติก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา
เนื่องจากพวกเขาก็มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
แม้ว่า Benatar จะอ้างว่าเขาไม่ได้มองหา “ทางออกสุดท้าย” แต่เขาก็เชื่อว่าในที่สุดโลกก็จะหาทางแก้ปัญหาเองในท้ายที่สุด นั่นคือ
"คำถามไม่ใช่ว่ามนุษย์จะสูญพันธุ์หรือไม่ แต่คำถามคือจะเกิดขึ้นเมื่อใด
ถ้าแนวคิดเรื่องการต่อต้านการกำเนิดนั้นถูกต้อง สิ่งต่างๆ อาจจะดีกว่านี้
ทุกสิ่งบนโลกเท่าเทียมกันทั้งหมด
หากไม่ว่าอย่างไรนี่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งเกิดขึ้นเร็วเท่าใด
มนุษย์เราก็สามารถหลีกเลี่ยงความทุกข์ทรมานและเภทภัยได้มากขึ้นเท่านั้นมิใช่หรือ?"
ในขณะที่โดยส่วนตัวแล้วฉันไม่ได้อยู่ในฝ่ายที่อยากมีลูก
แต่ฉันมีปัญหาเมื่อได้อ่านบทความของ Benatar ฉันพบว่าตัวเองกำลังวางแผนโต้แนวคิดของเขาอยู่
จริงๆ แล้วฉันไม่คิดว่าเขาให้เครดิตกับมนุษย์มากพอในด้านการแสดงความกล้าหาญและความเห็นอกเห็นใจในชีวิตประจำวัน
โดยปกติแล้วความดีที่กล่าวมาไม่ค่อยมีการประโคมข่าวหรือการรายงานจากสื่อเท่าใดนัก
มนุษย์สามารถเป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัวอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ด้วยความมานะและการฝึกฝน
เราก็สามารถเป็นผู้เสียสละอย่างไม่น่าเชื่อได้เช่นเดียวกัน
การที่มนุษย์มีทุกข์ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทนทุกข์
สิ่งนี้คือภูมิปัญญาของคำสอนหนึ่งเดียวในพุทธศาสนา
ปริศนาแห่งความไม่พึงพอใจอยู่กับเรามาระยะหนึ่งแล้ว
เนื่องจากสภาพการเมืองโลกเราไม่ได้ใกล้เคียงกับการแก้ไขปริศนานี้เลย
และการแสร้งทำว่าปัญหาไม่มีอยู่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย
สิ่งนี้จะดำเนินต่อไปตราบเท่าที่ประชากรของเราพุ่งสูงขึ้น
การแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรจะเพิ่มขึ้น
ความปรารถนาในการเติมเต็มความต้องการก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
การใช้ชีวิตให้มีชีวิตชีวามากขึ้นจะนำความสุขมาให้ แต่สิ่งที่เราต้องแลกคืออะไร?
บทสรุปของ Benatar อาจไม่น่าพึงพอใจสักเท่าไหร่
แต่ก็ไม่ควรโยนทิ้งโดยไม่พิจารณามันเลย หากจะเปรียบเทียบ
เราทุกคนถูกออกแบบมาให้เป็นต้นไม้ที่ไม่สามารถมองเห็นป่าได้
และต้นไม้เหล่านั้นก็หนาแน่นขึ้นทุกวัน
Derek เป็นผู้แต่งหนังสือ Whole Motion: Training Your Brain and Body For Optimal
Health. ที่ Los
Angeles, เขากำลังแต่งหนังสือเกี่ยวกับวัตถุนิยมทางจิต
สามารถติดตามเขาได้ทาง Facebook และ Twitter.