In translate: หรือนี่จะเป็นจุดจบแห่งอารยธรรม? เราควรจะเปลี่ยนเส้นทางใหม่
โดย
George Monbiot แปลและเรียบเรียงจาก

บทความหลักของนิตยสาร New Scientist ตั้งคำถามว่า “หรืออารยธรรมตะวันตกกำลังอยู่ในจุดที่ใกล้ล่มสลายแล้ว?” ซึ่งเป็นคำถามที่ดี แต่ดูแคบไปหน่อย คำตอบก็คือ ก็เป็นไปได้ แล้วทำไมถึงแค่ฝั่งตะวันตกล่ะ? ก็เพราะว่ารัฐบาลตะวันตกบางส่วนกำลังวุ่นอยู่กับความบ้าคลั่งของการทำลายตัวเอง ในยุคของปรากฏการณ์ที่มีความซับซ้อนและวิกฤตการณ์เชื่อมกันเป็นลูกโซ่ การบริหารงานของทรัมป์ได้เริ่มต้นด้วยการลดทักษะคนหมู่มาก และการทำให้บริหารง่ายดายขึ้นสำหรับภาครัฐ ( simplification of the state) โดนัลด์ ทรัมป์อาจจะไล่สตีฟ แบนนอน นักกลยุทธ์ของเขาออกไปแล้ว แต่เจตนารมย์ของแบนนอนซึ่งก็คือ “รื้อถอนระบบรัฐบริหาร” ยังคงเป็นนโยบายหลัก – และอาจจะเป็นเพียงนโยบายเดียวที่มี
สภาวะที่น่ารังเกียจนี้กำลังทำลายกลไกที่สำคัญของรัฐบาลอยู่
ทั้งโดยการลดเงินทุนกระทรวง การแยกทีมปฏิบัติงานออกจากกันและไล่ผู้เชี่ยวชาญที่เขาเหล่านั้นไว้ใจออก
การยกเลิกโครงการวิจัย การใส่ร้ายป้ายสีข้าราชการที่เหลืออยู่ ในขณะเดียวกันก็กำลังทำลายการคุ้มครองสาธารณชนที่กำลังปกป้องเราจากหายนะอยู่
งานวิจัยจำนวนมากที่ตีพิมพ์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เริ่มสำรวจผลกระทบที่กว้างขึ้นของสารก่อมลพิษ
งานวิจัยแรกตีพิมพ์ในวารสาร British Medical Journal เตือนว่าการที่ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในเมืองทำให้
“การสาธารณะสุขกำลังมุ่งสู่ความหายนะ”
มลพิษในครรภ์มีความเกี่ยวข้องกับ น้ำหนักแรกเกิดต่ำ
พัฒนาการปอดและสมองของทารกผิดปกติ ภาวะอ่อนกำลังต่างๆ
และโรคร้ายแรงที่เกิดขึ้นในภายหลัง
อีกหนึ่งงานวิจัยซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร
The Lancet กล่าวว่ามลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคนไปมากกว่าโรคเอดส์ มาลาเรีย
และวัณโรครวมกันถึงสามเท่า ผู้เขียนให้ข้อสังเกตว่า
ในปัจจุบันมลพิษกำลังคุกคามความอยู่รอดของสังคมมนุษย์ มีงานวิจัยหลายฉบับในวารสาร PLOS
Biology เปิดเผยว่าสารเคมีสังเคราะห์ที่เราอาจได้รับกว่า 85,000 ชนิดไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่เชื่อถือได้
ซึงสารเคมีหลายร้อยชนิดดังกล่าว “ตรวจพบในเลือดและปัสสาวะของทุกคนที่เข้ารับการทดสอบ” และปริมาณของการใช้สารเหล่านั้นในวัสดุต่างๆ ยังเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี
เรายังไม่อาจทราบได้ว่ามันมีผลกระทบอย่างไรต่อเรา ไม่ว่าจะเป็นด้วยตัวสารนั้นเดี่ยวๆ
หรือรวมกัน
ในการตอบโต้ผลวิจัยที่กล่าวมา
รัฐบาลของทรัมป์ได้ทำลายบูรณภาพของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ ฉีกแผนพลังงานสะอาด
ยกเลิกมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของรถยนต์ นำคลอร์ไพริฟอส
(สารกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลเสียต่อระบบสติปัญญาและระบบพฤติกรรมในเด็ก) กลับมาใช้อีกครั้ง
และยกเลิกมาตรการป้องกันสาธารณะอีกหลายรายการ
เช่นเดียวกันในสหราชอาณาจักร รัฐบาลก็ได้ลดความสามารถในการต่อกรกับวิกฤติลงไปเรื่อยๆ
หนึ่งในพระราชบัญญัติแรกๆ ของเดวิด คาเมรอน คือการปิดระบบเตือนภัยล่วงหน้าของรัฐบาล
ได้แก่ คณะกรรมการมลพิษสิ่งแวดล้อมแห่งสหราชอาณาจักรและคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เขาไม่อยากได้คำแนะนำจากหน่วยงานเหล่านั้น เขาไล่ที่ปรึกษาที่เป็นกลางออกและแทนที่ด้วยพวกที่ชอบเลียแข้งเลียขา
การกระทำแบบนี้ทำให้อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีตล่มสลายไปแล้วนักต่อนัก ปัจจุบันความสามารถในการแก้ปัญหาลดลงเป็นเงาตามตัวเนื่องจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป
แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่ในแค่ฝั่ง
“ตะวันตก” เท่านั้น การเพิ่มขึ้นของการปลุกปั่น
(การแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนด้วยวิธีการลูบหน้าปะจมูก ซึ่งจะเกิดขึ้นไปพร้อมกับการแยกเอารัฐที่ปกครองตัวเองออก)
สามารถเห็นได้ชัดในทุกหนทุกแห่ง สิ่งแวดล้อมทั่วโลกเสื่อมโทรมเร็วขึ้น
ประชากรสัตว์มีกระดูกสันหลังลดลง แมลงเริ่มสูญพันธ์จากการใช้ยาฆ่าแมลง
การทำลายป่าฝน ป่าชายเลน ดินและชั้นหินอุ้มน้ำ และระบบโลก เช่น ชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรกำลังเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่เชื่อมต่อกันเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อทุกคน แต่ในประเทศที่ยากจนผู้คนจะได้รับผลกระทบก่อนและรุนแรงกว่า
อำนาจที่คุกคามความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ทุกคนคือสิ่งเดียวกันทั่วโลก
นั่นคืออำนาจจากการวิ่งเต้นของธุรกิจใหญ่ๆ และนายทุนเงินหนา ซึ่งมองรัฐบริหารเป็นอุปสรรคต่อการทำกำไรของพวกเขา
เมื่อผนวกกับความเย้ายวนของเงินหาเสียง กองทุนที่ได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ
นักข่าวแฝงและนักวิชาการหัวอ่อน อำนาจเหล่านี้จะอยู่เหนือประชาธิปไตย หากคุณต้องการทราบว่าสิ่งเหล่านั้นทำงานอย่างไร
คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือเรื่อง Dark Money ของ เจน เมเยอร์
ในระดับหนึ่ง
การเชื่อมต่อสามารถรองรับปัญหาได้ ยกตัวอย่างเช่น
หากระบบจัดหาอาหารของท้องถิ่นล้มเหลว
เราก็ยังสามารถดึงผลิตผลจากแหล่งอื่นได้โดยตลาดภูมิภาคหรือตลาดโลก หากสถานการณ์เกินระดับนั้นมาแล้วการเชื่อมต่อและความซับซ้อนที่กล่าวมาจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้
สิ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของระบบเมื่อรวมกับความไร้สมรรถภาพของสมองมนุษย์ในการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสามารถแพร่กระจายวิกฤติได้มากกว่าที่จะจำกัดวงของมัน
เรากำลังตกอยู่ในอันตรายจากการที่ต่างคนต่างพากันฉุดกันลง
นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ควรตั้งคำถามว่า “หรือนี่จะเป็นจุดจบของสังคมอันซับซ้อน”
ก่อนหน้านี้สังคมที่ซับซ้อนได้ล่มสลายลงไปหลายครั้งหลายคราแล้ว
ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป เจมส์ ซี สก็อตต์ ได้อธิบายในหนังสือของเขาชื่อ Against the Grain ไว้ว่า เมื่ออำนาจจากศูนย์กลางพังทลายจากโรคระบาด การสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร
น้ำท่วม การสึกกร่อนของดิน หรือความดื้อรั้นดันทุรังในการทำสิ่งต่างๆ
ที่เป็นภัยต่อตัวเองของรัฐบาล เมื่อนั้นผู้คนจะมีโอกาสที่จะหนี
ในหลายกรณีพวกเขาจะกลายเป็น “คนเถื่อน”
สิ่งนี้เรียกว่าบรรพกาลนิยมลำดับสอง สก็อตต์ตั้งข้อสังเกตว่า “การเป็นคนเถื่อนจะได้รับความปลอดภัย โภชนาการและระเบียบสังคมที่ดีกว่า” ยุคมืดที่ไม่สิ้นสุดหลังความรุ่งโรจน์และความยิ่งใหญ่ของรัฐอาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะมีชีวิตอยู่
แต่ในช่วงเวลานี้เราอยู่ในจุดที่ไม่สามารถถอยหลังได้อีกแล้ว
ดินแดนป่าและระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสนับสนุนนักล่า คนเร่ร่อน และผู้ลี้ภัยจากล่มสลายของรัฐในยุคแรกๆ
ตอนนี้แทบจะไม่มีแล้ว มีเพียงเศษเสี้ยวของประชากรปัจจุบันเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดจากการกลับคืนสู่ชีวิตคนเถื่อน
(เมื่อพิจารณาจากการประมาณการจำนวนประชากรสูงสุดของสหราชอาณาจักรในช่วงกลางของยุคหินที่ผู้คนมีชีวิตจากการเก็บของป่าล่าสัตว์เท่ากับ
5,000 คน) ในยุคที่ประชาธิปไตยมีไว้พอเป็นพิธี
ตอนนี้สิ่งที่กั้นระหว่างเรากับความหายนะมีเพียงรัฐที่มีความซับซ้อนและจุดบกพร่องทั้งหมดของมันอยู่