ชุดทดสอบ ‘พยาธิแคปปิลลาเรีย’ หวังช่วยชาวอีสานรอดตายจากท้องร่วงเรื้อรัง
สกว.จับมือแพทย์ ม.ขอนแก่น
โชว์ชุดทดสอบสำเร็จรูปแบบรวดเร็วเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิแคปปิลลาเรีย
นวัตกรรมแรกของโลกที่พร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ รู้ผลใน 15 นาที แม่นยำ 100%
ส่งมอบให้แก่ตัวแทนโรงพยาบาลชุมชุนในอีสาน 30
แห่ง หวังช่วยชีวิตคนรอดตายจากอาการท้องร่วงเรื้อรัง
เมื่อเดือน ม.ค. 2561 ที่
มหาวิทยาลัยขอนแก่น --- ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการ
องค์ความรู้พื้นฐานและประยุกต์ใช้ของปรสิตและพาหะเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อสังคม เรื่อง
“สกว.-มหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างนวัตกรรมอุทิศต่อสังคม :
ผลิตชุดทดสอบแบบรวดเร็วพร้อมจำหน่าย เพื่อวินิจฉัยโรคท้องร่วงจากพยาธิแคปิลลาเรีย
ช่วยชาวอีสานให้รอดชีวิต” ภายใต้การสนับสนุนทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย
สกว. และทุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มวิจัยซึ่งมี ศ. ดร.วันชัย
มาลีวงษ์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เป็นหัวหน้าโครงการ ได้พัฒนาชุดทดสอบสำเร็จรูปแบบรวดเร็วเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิแคปปิลลาเรีย
โดยวิธีทดสอบด้วยเทคนิคอิมมูนโนโครมาโทกราฟี (Immunochromatography Test: ICT) มีชื่อว่า “แคปปิลลาริเอซิส ไอซีที คิท” (Kapillariasis
ICT kit) ทั้งนี้โรคพยาธิแคปิลลาเรียเป็นโรคท้องร่วงเรื้อรังที่เกิดจากพยาธิ
Capillaria philippinensis พยาธิตัวกลมขนาดเล็กที่อยู่ในลำไส้เล็กของคน
ลำตัวมีความยาวเพียง 2-5 มิลลิเมตร รูปร่างคล้ายหลอดแคปิลลารี่ ในประเทศไทยมีรายงานพบผู้ป่วยได้ทุกภูมิภาค
แต่ภาคอีสานพบมากที่สุด มีการรายงานผู้ป่วยเป็นระยะๆ โรคนี้วินิจฉัยยากมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการท้องร่วงเรื้อรัง
มีประวัติการรักษาจากสถานพยาบาลหลายแห่ง ร่างกายขาดสารอาหาร
แทบเอาชีวิตไม่รอดทั้งที่เป็นเพียงโรคพยาธิ โดยสาเหตุเกิดจากการบริโภคปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดตระกูลปลาตะเพียนที่ปรุงไม่สุก
จึงได้รับตัวอ่อนพยาธิ
เมื่อตัวอ่อนเจริญไปเป็นพยาธิตัวแก่
ทำให้พยาธิในลำไส้คนเพิ่มจำนวนมากมายฝังตัวอยู่ในเยื่อบุลำไส้เล็ก
ทำให้เซลล์เยื่อบุผิวลำไส้เล็กฝ่อตัวและถูกทำลาย ไม่สามารดูดซึมน้ำ โปรตีน
คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ และวิตามินได้
จึงเกิดอาการท้องร่วงเรื้อรัง น้ำหนักลด ภาวะทุโภชนาการ ผู้ป่วยที่แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้จะเสียชีวิตทุกราย ผู้ป่วยมักถูกวินิจฉัยเป็นโรคเอดส์
มะเร็งลำไส้ วัณโรคในลำไส้ โรคไต โรคตับ คอพอกเป็นพิษ ถ้าโชคร้ายตรวจไม่พบไข่หรือตัวพยาธิในอุจจาระ
การวินิจฉัยโรคล่าช้า ไม่ได้ยารักษาจะเสียชีวิตทุกราย และเสียค่าใช้จ่ายในการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมากมายที่ไม่จำเป็น
บางรายถูกผ่าตัดช่องท้องเพื่อหาสาเหตุ
การตรวจอุจจาระเพื่อวินิจฉัยโรค ได้แก่
การตรวจหาระยะไข่ ตัวอ่อนหรือตัวเต็มวัยของพยาธิแคปิลลาเรียในอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์
แต่โอกาสพบเป็นไปได้ยาก ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านปรสิต
และผู้ป่วยมักได้ยาฆ่าพยาธิมาก่อน จึงมักตรวจไม่พบ กลุ่มวิจัยจึงได้พัฒนาชุดทดสอบสำเร็จรูปเพื่อตรวจหาแอนติบอดีในซีรั่มผู้ป่วย
สามารถวินิจฉัยโรคพยาธิแคปิลลาเรียในคนได้ 100% ในเวลาที่รวดเร็ว
ชุดทดสอบดังกล่าวผลิตโดยนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“ผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบสำเร็จรูปนี้เป็นนวัตกรรมระดับโลกที่ทันสมัยที่สุด
มีแถบแอนติเจนที่เป็นสารสกัดจากตัวพยาธิทริคิแนลล่า
ซึ่งทำปฏิกิริยาอย่างจำเพาะกับซีรั่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิแคปิลลาเรีย
เพียงหยดตัวอย่างซีรั่มผู้ป่วยที่เจือจาง และน้ำยาลงในช่องของชุดทดสอบ
สามารถอ่านผลด้วยตาเปล่าภายในเวลา 15 นาที ผลบวกมีแถบสีชมพูปรากฏ
2 แถบ ผลลบมีแถบสีชมพู 1 แถบ
มีค่าความไว 100% และความจำเพาะ 96.6% ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้
ชุดทดสอบดังกล่าวยังมีจุดเด่นคือ
ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือราคาแพงและผู้เชี่ยวชาญในการทดสอบ
ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตชุดทดสอบสำเร็จรูปอย่างรวดเร็วในรูปแบบนี้เพื่อวินิจฉัยโรคพยาธิแคปิลลาเรียในคน
ก่อนหน้านี้ ศ. พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ และคณะ ได้ผลิตชุดทดสองวิธีอิมมิวโนบลอท
และวิธีอีไลซ่า เพื่อตรวจหาแอนติบอดีในซีรั่มผู้ป่วยสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก
วินิจฉัยได้แม่นยำแทนการตรวจหาพยาธิในอุจจาระได้ แต่ทั้งสองวิธีใช้เวลาทดสอบนาน 6 ชั่วโมง และ 2-3 ชั่วโมงตามลำดับ ซึ่งล่าช้า
ชุดทดสอบนี้ใช้วินิจฉัยโรคได้ในระยะแรกของการติดเชื้อ
ใช้ติดตามการรักษาและวินิจฉัยแยกผู้ป่วยท้องร่วงเรื้อรังจากสาเหตุอื่น เช่น
มะเร็งลำไส้ เอสด์ ไทรอยด์เป็นพิษได้รวดเร็ว ราคาถูก ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสาเหตุ
ลดการครองเตียง ที่สำคัญช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิตได้
ถือเป็นผลงานวิจัยที่ต่อยอดไปสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์พร้อมจำหน่ายได้ในประเทศไทยและต่างประเทศ”
ในโอกาสนี้ ผู้บริหาร สกว.
และมหาวิทยาลัยขอนแก่นมอบชุดตรวจให้แก่ตัวแทนโรงพยาบาลชุมชุนในภาคะวันออกเฉียงเหนือจำนวน
30 โรงพยาบาล เพื่อนำไปใช้ตรวจวินิจฉัยโรคในชุมชน จากนั้นกลุ่มวิจัยได้เปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิที่แคปปิลลาเรียโดยวิธี
Immunochromatography
Test (ICT) แก่ตัวแทนโรงพยาบาลชุมชุนด้วย
-Z-
โดย ฝ่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
-สนับสนุนโดย-