'ชุมชนบางคนที' สืบสานงานวิจัยระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ Ecotourism กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รวมถึงการเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่น
อีกทั้งยังเป็นการท่องเที่ยวที่นานาประเทศให้ความสำคัญ เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและนานาชาติ
ตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Environmentally
Sustainable Development)
แต่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะต้องเป็นการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบในแหล่งท่องเที่ยวเริ่มตั้งแต่ชุมชนต้องมีการจัดการรักษาสิ่งแวดล้อม
มีการให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องและทุกฝ่ายต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
รวมถึงนักท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้เข้ามายังชุมชน
ปัจจุบันหลายพื้นที่ทยอยเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นความนิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น
จึงเป็นที่มาของ 2 ชุมชน ในตำบลบางคนทีและตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที
จังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยชุมชนกับการจัดระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คลองดำเนินสะดวก
พื้นที่โซน 6 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
(สกว.) มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รู้ศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติ การเตรียมชุมชนให้พร้อม
และพัฒนาระบบการจัดการท่องเที่ยวที่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับชุมชน
รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ขยะ และดูแลรักษาคลองดำเนินสะดวกได้
ตำบลบางคนทีและตำบลบางนกแขวก ตั้งอยู่อำเภอบางคนที
เป็นพื้นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำแม่กลองจึงมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และยังเป็นเส้นทางน้ำเชื่อมระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับคลองดำเนินสะดวก
ซึ่งไหลผ่านกลางชุมชนใน 2 ตำบล ด้วยเป็นพื้นที่ดินชุ่มน้ำดี วิถีชีวิตของชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
มีการปลูกพืชสวนผสม เช่น มะพร้าว ลิ้นจี่ กล้วยน้ำหว้า ส้มโอฯลฯ แต่ปัจจุบันชุมชนเริ่มประสบปัญหาขยะและลำคลองตื้นเขิน
เพราะขาดการใส่ใจดูแลรักษา หลังจากความเจริญเข้ามาสู่พื้นที่
ผู้คนหันไปใช้ถนนในการสัญจรหลักแทนการสัญจรทางน้ำเหมือนในอดีต
พนม นาคคีรี นักวิจัยชาวบ้าน
นายพนม นาคคีรี
สารวัตรกำนัน ม. 2 ต.บางคนที อ.บางคนที ในฐานะนักวิจัยชาวบ้าน กล่าวว่า เมื่อความเจริญเข้ามาในพื้นที่ทำให้วิถีชุมชนหายไป
จากที่เคยทำสวนทำไร่ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าสืบทอดกันมาถึงรุ่นลูกหลานก็เริ่มขายที่ให้กับนายทุนข้างนอกเข้ามาทำธุรกิจปลูกสิ่งก่อสร้างโรงแรม
บ้านพัก รีสอร์ท มากขึ้น รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม
ทำให้สภาพพื้นที่ในชุมชนเปลี่ยนแปลง มีการถมคลองเพื่อทำถนน
ทำให้การสัญจรและการไหลของน้ำเกิดการเบี่ยงเบน ขณะที่คลองซอยที่กระจายอยู่ในชุมชนไว้รองรับน้ำเพื่อใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงของชุมชนก็ลดน้อยตามไป
เหตุเพราะขาดจิตสำนึก คิดถึงแต่ความสะดวกสบาย แต่ไม่ใส่ใจดูแลแม่น้ำลำคลอง ทิ้งขยะไม่เป็นที่
เกิดการสะสมขยะมูลฝอย
รวมทั้งผักตบชวาและวัชพืชก็ไม่มีการเก็บปล่อยให้ขึ้นรกปกคลุมไปทั่วจนเรือไม่สามารถผ่านได้
จึงได้เข้าร่วมโครงการฯเพื่อต้องการกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนหันกลับมาใส่ใจดูแลรักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลอง
“ถ้าวันข้างหน้าเราไม่มีน้ำแล้วจะทำอย่างไร!! อยากให้ชุมชนหันกลับมามองคุณค่าของน้ำ ตอนนี้คนหันไปเห็นคุณค่าของถนนเพราะสะดวกสบาย
จนละทิ้งแม่น้ำลำคลองแม้แต่คลองซอยหรือคลองสาขาจากที่เคยเป็นแก้มลิงเมื่อถูกถมทำถนน
พอหน้าน้ำก็ไม่มีทางระบาย พอหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ ดังพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9
ความตอนหนึ่งว่า ‘น้ำคือชีวิต’ ถ้าวันใดที่ไม่มีน้ำ เราอยู่ไม่ได้ เพราะน้ำเปรียบเสมือนเส้นเลือดในร่างกาย
การทิ้งขยะลงในแม่น้ำก็เหมือนกับทิ้งใส่ตัวเองและการถมคลองทำถนนก็เหมือนเส้นเลือดที่อุดตัน
ย่อมก่อให้เกิดโรคภัยตามมา เช่นเดียวกันหากปล่อยให้แม่น้ำลำคลองสกปรก เน่าเสีย
เราก็จะไม่มีน้ำสะอาดไว้ดื่มไว้ใช้ แต่ถ้าแม่น้ำใสสะอาดก็เหมือนร่างกายที่สมบูรณ์ไม่มีโรคภัย... ดังนั้น ถ้าคิดว่าเรารักชีวิตของเราแค่ไหน
ก็สมควรที่จะรักแม่น้ำลำคลองมากเท่านั้น ”
นายพนม กล่าวว่า การลงพื้นที่ทำวิจัยเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลระยะทางของคลองในแต่ละชุมชนนั้น
เพื่อสำรวจเส้นทางไหลของน้ำ และสาเหตุของปัญหาขยะในชุมชน โดยเป็นการทำงานร่วมกันของ 2 ตำบลคือบางคนทีและบางนกแขวก
ผลการลงพื้นที่จัดเก็บรวบรวมข้อมูลความยาวของลำคลองและสำรวจสภาพลำคลองต่างๆในชุมชน
ได้นำมาสู่การจัดทำแผนที่ทำมือซึ่งเป็นเส้นทางน้ำของชุมชนเป็นครั้งแรก ที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ทันที
เช่น ปัญหาคลองเกิดการตื่นเขิน รกร้าง ขาดการฟื้นฟู เราก็สามารถนำข้อมูลปัญหาและจุดที่พบเสนอไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดและเร็วขึ้น
เพราะมีข้อมูลยืนยันชัดเจน
นอกจากนี้ยังรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนและเยาวชนหันมาช่วยกันจัดเก็บขยะร่วมกันอนุรักษ์และรักษาความสะอาดคูคลองเหมือนในอดีต
จากการดำเนินการรณรงค์ทำให้ปัจจุบันสถานการณ์ในชุมชนเริ่มคลีคลายดีขึ้น ชุมชนเกิดความกระตือรือร้นในการดูแลความสะอาดมากขึ้นหันมาทิ้งขยะลงถังแทนการทิ้งขยะลงลำคลอง
“การทำงานวิจัยโครงการที่เกี่ยวกับการดูแลแม่น้ำลำคลอง
ทำให้รู้ระยะทางรู้สภาพพื้นที่ เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้น ก็สามารถนำข้อมูลมาใช้ยืนยันเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถเข้ามาดำเนินการได้ทันที
ดังนั้นถ้าชุมชนทุกตำบลทำวิจัยจะทำให้เราสามารถเก็บข้อมูลของทุกชุมชนมาเชื่อมต่อกันได้หมดทุกตำบลและร้อยไปถึงอำเภอได้จะยิ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนมากยิ่งขึ้น”
สำหรับงานวิจัยนี้ มุ่งให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลและแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างพื้นฐานให้กับคนในชุมชนได้ตระหนักในแนวทางร่วมกัน
นอกจากการอนุรักษ์แม่น้ำลำคลอง ชุมชนยังร่วมกันสืบค้นหาประวัติศาสตร์ชุมชน
และพัฒนาเด็กเยาวชนให้เป็นนักวิจัยน้อย
เพื่อดำเนินโครงการวิจัยเพื่อสิ่งแวดล้อมคลอง และพัฒนานักมัคคุเทศก์น้อยเพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป
โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ได้แก่ โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ ,
โรงเรียนวัดเจริญสุขาราม (วัฒนานุวรรตน์) และโรงเรียนเมธีชุณหะวัณวิทยาลัย
งานวิจัยนี้เป็นกระบวนการวิจัยที่สร้างการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศ
มีกระบวนการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายชุมชน วัด โรงเรียน และหน่วยงานท้องถิ่น
เพื่อปลูกฝังความรักความสามัคคีของคนในชุมชน นำไปสู่การทำงานและการวางแผนงานร่วมกัน
โดยมีการจัดทำระบบฐานข้อมูล การพัฒนาแผนการจัดการคลองของ 2 ตำบล
การสร้างเครือข่ายเชิงพื้นที่
มีการเก็บข้อมูลจากเวทีประชุมเชิงวิจัย
ทั้งการประชุมระดับตำบลและระดับภาคีเครือข่าย
นำข้อมูลที่เก็บได้มาวิเคราะห์ร่วมกันอย่างเป็นระบบ
สำหรับผลที่เกิดขึ้นจากการวิจัย ทำให้ชุมชนเกิดชุดข้อมูลการจัดการระบบนิเวศน์ฯ
โดยเฉพาะการจัดทำแผนที่ทำมือ ซึ่งจากชุดข้อมูลนี้ทำให้คนในชุมชนเกิดจิตสำนึกและห่วงแหท้องถิ่นของคนเองมากขึ้นเกิดการห่วงใยสิ่งแวดล้อมและรักสายน้ำตั้งแต่แม่น้ำถึงร่องสวน
และเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการระบบนิเวศน์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
และนำมาสู่การออกแบบวางแผนเพื่อการจัดการระบบนิเวศน์คลองและพัฒนาสาการท่องเที่ยวฯ
ที่สามารถสร้างศักยภาพการจัดการโดยชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีของชุมชน , เกิดรูปแบบการท่องเที่ยวที่สอดคล้องต่อระบบนิเวศน์และประวัติศาสตร์
มีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านต่างๆในชุมชนเพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตและเกิดศูนย์การเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
โดยมีการจัดตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้คลอง’ ขึ้นที่โรงเรียนเมธีชุนหะวัณวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของคลองดำเนินโซน
6
ทั้งนี้การขับเคลื่อนงานวิจัยตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
ได้กระตุ้นให้ชุมชนเกิดจิตสำนึกรักษ์และห่วงแหนท้องถิ่นของคนในพื้นที่สองตำบลมากขึ้น
และยังได้กระตุ้นให้ผู้นำท้องถิ่นเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น อาทิ
โครงการลงแขกลงคลองที่ชุมชนจัดขึ้นประจำทุกเดือนสลับไปตามลำคลองต่างๆเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในแม่น้ำลำคลอง
อย่างไรก็ตาม แม้การดำเนินในโครงการฯ
เพื่อศึกษาหาแนวทางในการจัดการด้านการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ในพื้นที่ฯ
อย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยว แต่เป้าหมายที่แท้จริงของชุมชนไม่ได้มุ่งเน้นผลประโยชน์หรือรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก
แต่ต้องการปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาเห็นคุณค่าของแม่น้ำลำคลองว่าน้ำนั้นมีประโยชน์ต่อชีวิตคนเรามากมาย
ที่จะต้องร่วมกันดูแลรักษาไว้คงอยู่ให้คนรุ่นต่อๆไปได้มีน้ำสะอาดใช้ คนไม่สามารถขาดน้ำได้
เพราะ“น้ำ” คือชีวิต
-Z-
โดย
ฝ่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
(สกว.)
-สนับสนุนโดย-