ญี่ปุ่นกับการจัดการภัยพิบัติ: ภาพรวมการแก้ปัญหาน้ำท่วมก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่มาภาพประกอบ: theatlantic.com
การแก้ปัญหาน้ำท่วมของญี่ปุ่นในสมัยเมจิหลังจากที่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับแม่น้ำ
(The River Law) ในปี 1896 [อ่านการแก้ปัญหาน้ำท่วมสมัยเมจิโดย Z-World ได้ที่ bit.ly/2CqvXN3] ถัดมาในปี1897 ญี่ปุ่นยังออกกฎหมายกำจัดตะกอนในคลอง
(Sediment Control Law) ที่เอาไว้ระบายน้ำจากแม่น้ำสายหนึ่งสู่อีกสายหนึ่งที่ขุดขึ้นจำนวนมากตั้งแต่สมัยเอโดะอันเป็นยุคก่อนสมัยเมจิ
และยังออกกฎหมายเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ (Forest Law) ระหว่างนั้นก็ได้สร้างแนวดินกั้นน้ำขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตามริมแม่น้ำสายใหญ่
นโยบายนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชนผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น ๆ
อย่างไรก็ตามในปี 1910 ก็เกิดน้ำท่วมเกือบทั่วประเทศ (national scale) จึงทำให้เกิดการศึกษาเพื่อวางแผนจัดการน้ำท่วมระดับประเทศอีกครั้ง
โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณที่พิจารณาแล้วว่าควรจะพัฒนาแม่น้ำสายไหนก่อน-หลังเพื่อป้องกันน้ำท่วมซึ่งเป็นโครงการระดับประเทศ
ต่อมาในสมัยตาอิโช (Taishō) ที่ตั้งชื่อตามสมเด็จพระจักรพรรดิตาอิโช
เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ คือนับจากปี 1912 ถึง 1926 ญี่ปุ่นมีประสบการณ์เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1
(1914-1918) โดยอยู่ข้างเดียวกับสหราชอาณาจักร
ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก
เกือบทั้งหมดของการแก้ปัญหาน้ำท่วมในช่วงนั้นและคาบเกี่ยวกับยุคถัดไปคือเมื่อถึงปี 1930 เป็นการขุดคลองจากบริเวณที่ตื้นของแม่น้ำที่อยู่ใกล้เมืองใหญ่อย่าง
โตเกียว โอซาก้า ฮิโรชิม่า เป็นต้น เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเล
โดยทำเช่นนี้กับแม่น้ำเกินกว่า 10 สาย
ซึ่งส่งผลให้เมื่อเกิดน้ำท่วม น้ำก็ไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว
(ระหว่างนั้นญี่ปุ่นก็ประสบภัยธรรมชาติครั้งใหญ่หลวงไปด้วย
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Great Kantō earthquake เมื่อ 1 ก.ย. 1923 เป็นแผ่นดินไหวความรุนแรง 7.9 แม็กนิจูด และยังเกิดคลื่นยักษ์สึนามิความสูง 12 เมตร พื้นที่ที่เสียหายได้แก่ กรุงโตเกียว โยโกฮาม่า ชิบะ คานางาวะ
ชิซูโอกะ ทั้งหมดนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 105,385 ราย
เป็นภัยธรรมชาติที่ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น)
เมื่อเข้าสู่ยุคโชวะ (Shōwa: 1926-1989) เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 1934 พายุไต้ฝุ่นมุโรโตะ (Muroto) ที่โจมตีแผ่นดินทางใต้ของประเทศญี่ปุ่นได้ฆ่าชีวิตผู้คนไปทั้งหมด 3,066 ราย ทว่าแค่ที่โอซาก้าจังหวัดเดียวเสียชีวิตไปถึง 1,665 ราย
ต่อมาจึงมีการสร้างแนวปูน/แนวหินกั้นน้ำและแนวดินกั้นน้ำใกล้กับชุมชนที่อยู่ใกล้ชายฝั่งที่โอซาก้า
โดยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวกั้นน้ำทุกประเภทที่โอซาก้ามีความยาวรวมกันทั้งหมด 36.68 กิโลเมตร
-Z-
โดย Tanandawn Chompusi ที่มาข้อมูล Flood Management in Japan - Network of Asian RiverBasin
Organisation, Yutaka TAKAHASI (June 2011) - Lee Kuan Yew School of PublicPolicy และ 1934 Maruto typhoon - WikiVisually (เข้าถึงเมื่อ 01/01/2018)
-สนับสนุนโดย-