ญี่ปุ่นกับการจัดการภัยพิบัติ: '1945-1959' ช่วงเวลาที่น้ำท่วมบ่อยที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
ภาพ:
ผู้คนแสดงความรำลึกถึงผู้จากไปที่โรงพยาบาลค่ายโอโนะ
จากโศกนาฏกรรมไต้ฝุ่นมาคุระซากิ ณ อนุสรณ์สถานในโรงพยาบาลค่ายโอโนะ ที่มาภาพ
hiroshimapeacemedia.jp
ระหว่างปี 1945 - 1959
ถือช่วงเวลาที่น้ำท่วมแล้วท่วมอีกบ่อยครั้งที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นขึ้นมา โดยมีตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญ ๆ
ดังนี้
"Another
Hiroshima" คือ 42 วันหลังระเบิดลง
ไต้ฝุ่นถล่มฮิโรชิม่า ตาย 2 พัน -
ฤดูฝนหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เพียงเดือนเดียว
ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น หลังสี่ทุ่มเล็กน้อยในคืนวันที่ 17 ก.ย.
1945 ต่อเนื่องถึงวันรุ่งขึ้น
พายุฝนไต้ฝุ่นได้เริ่มแผลงฤทธิ์ที่เมืองมาคุระซากิในจังหวัดคาโงชิม่าทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเคียวชูอันเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านล่างสุดของแผนที่ประเทศญี่ปุ่น
มันจึงถูกตั้งชื่อว่าไต้ฝุ่นมาคุระซากิ (Makurazaki)
เหนือเกาะเคียวชูขึ้นไปคือส่วนปลายของแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีพื้นที่ที่เรียกว่าชุโงกุอันประกอบด้วย
5 จังหวัดโดยหนึ่งในนั้นคือ
ฮิโรชิม่า
ที่นี่มีสะพานหลายเส้นที่รอดพ้นจากแรงระเบิดปรมาณูมาได้นั้นไม่สามารถต้านทานพลังของน้ำและโคลนที่ไต้ฝุ่นลูกนี้มอบให้
ทางรถไฟและถนนต่าง ๆ
รวมถึงตึกของบริษัทที่รอดพ้นจากแรงทำลายล้างของปรมาณูมาได้และลูกจ้างเพิ่งพากันกลับเข้าไปทำงาน
ต้องแช่อยู่ในน้ำ ภารกิจต่าง ๆ เพื่อฟื้น ‘ชีวิต’ หลังสงครามต้องเลื่อนออกไป
ไต้ฝุ่นมาคุระซากิได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายรวมกันถึง
3,756 ราย
ในจำนวนนี้ฮิโรชิม่าที่เพิ่งโดนระเบิดจากสงครามโลกถูกซ้ำเติมด้วยพายุนี้
ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลค่ายโอโนะ (Ono Army Hospital) ในฮิโรชิม่านั่นเอง โรงพยาบาลถูกคลื่นโคลนจากแม่น้ำมารุอิชิซัดเข้าใส่
ทำให้เกิดความตายและสูญหายรวมกัน 156 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยถึง
132 ราย, ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาล 13 ราย, และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกียวโต 11 ราย แต่ถ้านับทั้งฮิโรชิม่าแล้วจำนวนผู้เสียชีวิตและสูญหายมีรวมกันถึง 2,012 ราย เหล่านี้ทำให้มันถูกเรียกว่า Another Hiroshima หรือโศกนาฏกรรมอีกครั้งที่ฮิโรชิม่า
นั่นคือหลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูเพียง 42 วัน
และนี่เป็นเพียงการเริ่มต้นของหนึ่งทศวรรษครึ่งที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับฝูงพายุไต้ฝุ่น
[อนึ่ง นับแต่มีการบันทึกข้อมูลมา ไต้ฝุ่นดังกล่าวมีความรุนแรงเป็นอันดับ 2 ที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญ
โดยเมื่อใช้หน่วยวัดความรุนแรงของอากาศที่เรียกว่าเฮ็คโตปาสกาล (hectopascal:
hPa) มันอยู่ที่ 911.6hPa โดยไต้ฝุ่นที่รุนแรงอันดับหนึ่งเกิดขึ้นในเดือนกันยายนเช่นกันเมื่อปี
1934 มีความรุนแรงระดับ 916.3
เฮ็คโตปาสกาล เรียกว่าไต้ฝุ่นมุโรโตะ (Muroto)]
อีกสองปีต่อมาญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
(Disaster Relief Act) ในปี 1947
เพื่อเป็นสวัสดิการให้ประชาชนได้นำไปซ่อมแซมบ้านเรือน, ให้เงินและ/หรือให้กู้ยืมเงิน,
และสวัสดิการอื่น ๆ สำหรับผู้ได้รับผลกระทบ
โดยกฎหมายนี้เป็นการเริ่มต้นให้เงินสมทบแก่รัฐบาลท้องถิ่นจากรัฐบาลกลางเพื่อมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละจังหวัดให้เป็นผู้ใช้งบประมาณนี้สำหรับดำเนินการกู้ภัยพิบัติต่าง
ๆ
ทว่าในปีเดียวกันนั้นเองในกลางเดือนกันยายนเช่นเคยเมื่อวันที่
16 ปี 1947 ญี่ปุ่นถูกพายุฝนไต้ฝุ่นแคธลีน (Kathleen) โจมตี
จนแนวดินกั้นน้ำที่ริมแม่น้ำโทเนะเกิดความเสียหาย
ซึ่งส่วนหนึ่งของแม่น้ำนี้อยู่ในอาณาบริเวณของกรุงโตเกียวอันเป็นเขต ‘เมือง’
ที่กินพื้นที่กว้างที่สุดของประเทศ โตเกียวจึงถูกน้ำท่วม 5
วัน โดยย่านคันโตะและโตโฮกุเสียหายอย่างหนัก
สิ้นเดือนมิถุนายน
1953
เป็นช่วงฤดูฝนที่ฝนตกอย่างหนัก ทำให้พื้นที่เกือบทั้งหมดที่อยู่รอบ ๆ
แม่น้ำทางตอนเหนือของเกาะเคียวชูอันเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านล่างสุดของแผนที่ประเทศญี่ปุ่นถูกน้ำท่วม
วกกลับมาที่เดือนกันยายนเหมือนเดิมในวันที่
26 คราวนี้เป็นปี 1954 เกิดโศกนาฏกรรมเรือโดยสารข้ามช่องแคบเซอิกัน-โทยะมารุ (Seikan
ferry Toyamaru) ถูกพายุฝนไต้ฝุ่นซัดจมลงไปใต้ทะเลทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง
1,155 ราย โดยไต้ฝุ่นลูกนี้ถูกขนานนามว่า “ไต้ฝุ่นหมายเลข 15”
(Typhoon No.15: ไต้ฝุ่นลูกที่ 15
ของฤดูฝนที่โจมตีญี่ปุ่นนับแต่มีการบันทึกมา)
ปลายเดือนกันยายนปี
1958 เกิดเหตุพายุฝน
“ไต้ฝุ่นหมายเลข 22” (Typhoon No.22) พัดเข้าใส่อ่างเก็บน้ำที่แม่น้ำคาโนะบริเวณคาบสมุทรอิซุ
(Izu) นำไปสู่ความเสียหายในพื้นที่ที่ผู้คนเพิ่งจะเข้าไปสร้างที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นพื้นที่ของโตเกียวและโยโกฮามา
ไต้ฝุ่นอิเสะเบย์
(Ise Bay) ได้พัดฝูงฝนเข้าถล่มคาบสมุทรคิอิ
(Kii) ในเดือนกันยายน 1959
ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงครั้งใหญ่ที่สุดในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ของญี่ปุ่น น้ำขึ้นครั้งนี้ทำให้เกิดน้ำทะเลหนุนสูงถึง 3.5 เมตรที่บริเวณท่าเรือนาโงย่า ฆ่าชีวิตผู้คนมากถึง 5,177 ราย และบ้านเรือนมากกว่า 35,000
หลังถูกทำลายอย่างหนัก
มันไม่ได้ทำลายแค่ที่ย่านชุบุอันเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ที่จังหวัดนาโงย่าเท่านั้นแต่ไต้ฝุ่นลูกนี้ได้สร้างผลกระทบไปทั่วทั้งประเทศ
น้ำทะเลหนุนสูงครั้งนี้มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับน้ำทะเลหนุนสูงที่เนเธอร์แลนด์ในปี
1953
ช่วงที่ไต้ฝุ่นอิเสะเบย์โจมตีก็เป็นช่วงเดียวกับที่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
ในย่านชุบุการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมบริเวณชายฝั่งได้ทำให้เกิดการพัฒนาเมืองขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่รอบ
ๆ เมื่อพายุไต้ฝุ่นพัดฝนเข้าไปลงที่นั่นอย่างหนัก จึงเกิดแผ่นดินทรุดตัว
พื้นที่ประมาณ 300 ตารางกิโลเมตรถูกน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร
ต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือนถึงจะระบายน้ำออกจนหมด ในปีถัดมา (1960)
รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้บังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมใหญ่
-Z-
-สนับสนุนโดย-