ญี่ปุ่นกับการจัดการภัยพิบัติ: การแก้ปัญหาน้ำท่วมในสมัยเมจิ
หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าการฟื้นฟูเมจิ
(Meiji Restoration)* ในปี
1868 ญี่ปุ่นได้พัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาจำนวนมาก
จึงต้องแสวงหาวิธีป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ
และเพื่อใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางขนส่งสินค้า
ญี่ปุ่นจึงได้จ้างวิศวกรชาวฮอลันดาที่ชื่อว่า Johannis de Rijke และ Cornelis Johannes van Doorn มาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม
โดยฝรั่งสองคนนี้ใช้วิธีการของฮอลันดาในสมัยนั้น
ด้วยการสร้างแนวดินเป็นคันกั้นน้ำที่ริมคลองซึ่งส่วนใหญ่ถูกขุดขึ้นในยุคเอโดะ (การขุดคลองเป็นวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมที่มีชื่อเสียงของยุคเอโดะ) และขุดลอกคูคลองโดยเอาพืชต่าง ๆ, สาหร่าย,
ขยะ, โคลน ฯลฯ ออกไปจากคลอง
เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกยิ่งขึ้น
หลังจากนั้นการขนส่งทางน้ำก็ได้กลายเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
พอถึงช่วงทศวรรษ
1870 และ 1880 ก็เกิดปัญหาน้ำท่วมอีกโดยเฉพาะจากแม่น้ำสายใหญ่อย่าง แม่น้ำโยโดะ
แม่น้ำโทเนะ และแม่น้ำคิโสะ
ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นได้พัฒนาระบบขนส่งด้วยรถไฟขึ้นมา
อันนำไปสู่การขนส่งทางน้ำที่ลดลง จึงไม่ค่อยมีการขุดลอกคูคลอง จนต่อมาในปี 1896 จึงเกิดกฎหมายคาเซ็น (Kasen หรือ The River
Law) อันเป็นกฎหมายด้านแม่น้ำฉบับแรกของญี่ปุ่น
ซึ่งกรอบความคิดหลักของกฎหมายนี้เกี่ยวกับการบริหารจัดการแม่น้ำ
รวมถึงการจัดการน้ำท่วม การใช้ประโยชน์จากน้ำ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแม่น้ำ
กฎหมายนี้ได้วางหลักการให้ระบายน้ำที่ท่วมออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
โดยในทางปฏิบัติ
เป็นการปรับปรุงคลองให้เป็นเส้นตรงและสร้างคันกั้นน้ำริมคลองให้สูงกว่าที่มีอยู่
เป็นวิถีทางหลักสำหรับการป้องกันน้ำท่วมของญี่ปุ่นในช่วงนั้น
และเป็นวาระหลักของรัฐบาลในสมัยเมจิ (1868-1912) กฎหมายนี้ยังเป็นหลักการที่ใช้อย่างยาวนานเพราะกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายนี้ครั้งแรกเวลาก็ผ่านไปหลายสิบปี
คือแก้ไขครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1964
*หมายเหตุ: การฟื้นฟูเมจิ (Meiji Restoration)
ในปี 1868 หรือเรียกอีกชื่อว่าการปฏิวัติเมจิ
(Meiji Revolution) เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจาก
จักรพรรดิโคเมะเสด็จสวรรคตในเดือนมกราคม ค.ศ.1867 แล้วบุตรของท่านก็ได้ขึ้นสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาในเดือนกุมภาพันธ์
ด้วยวัยเพียง 15 ปี อันเป็นที่รู้จักกันว่า จักรพรรดิเมจิ
จากนั้นจักรพรรดิเมจิได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลของโชกุนโทคุงาวะซึ่งก่อนถูกยึดอำนาจโชกุนผู้นี้มีอำนาจสูงสุดบนแผ่นดินญี่ปุ่น
แล้วอำนาจสูงสุดก็กลับคืนสู่พระจักรพรรดิอีกครั้ง นับเป็นการสิ้นสุดของยุคซามูไร
และญี่ปุ่นก็ได้ค่อย ๆ
เปลี่ยนจากการปกครองแบบบังคับให้ทำงานเพื่อส่งส่วยให้แก่ผู้เป็นใหญ่
ไปสู่ระบบการแลกเปลี่ยนแรงงานกับค่าจ้างโดยสมัครใจหรือระบบทุนนิยมโดยอิทธิพลของโลกตะวันตก
-Z-
โดย
Tanandawn
Chompusi ที่มาข้อมูล Historical
assessment of Chinese and Japanese flood management policies and implications
for managing future floods (Pingping Luo & Kaoru Takara, February 2015)
, River and
Wetland Restoration: Lessons from Japan (Keigo Nakamura Klement Tockner
Kunihiko Amano, BioScience, Volume 56, Issue 5, 1/5/2006) , The
Outline of the River Law (Michitaro NAKAI, narbo.jp, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ
26/12/2017) , Flood
Management in Japan (narbo.jp เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/12/2017)
-สนับสนุนโดย-