'มะเขือเทศฆ่าตัวตาย' ภาวะล่มสลายและภัยพิบัติของนักเขียน
"บางทีเขาอาจจะเปลี่ยนใจยังไม่กินเรา
เอาไปเก็บไว้ก่อน"
"เดี๋ยวมนุษย์ก็ต้องฆ่าเราอยู่ดี"
"ทำไงได้
เกิดเป็นมะเขือเทศก็ต้องเจออย่างนี้แหละ"
ถ้อยความจากบทสนทนาระหว่างมะเขือเทศต่างรุ่น
จากเรื่องสั้นที่ปรากฏในเล่ม 'มะเขือเทศฆ่าตัวตาย' บอกเล่าผ่านน้ำเสียงกวน ๆ ทว่าลึกซึ้งกินใจ
‘นพพร สันธิศิริ’ นักเขียนหนุ่ม
คือเจ้าของผลงานชื่อหนังสือประหลาดล้ำเล่มนี้ แม้ "มะเขือเทศฆ่าตัวตาย”
ของเขาจะไม่ผ่านเข้าไปในรอบลองลิสต์ซีไรต์ปี 2560 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังสือเล่มนี้ถูกพูดถึงในฐานะเรื่องสั้นแนวสัจนิยมมหัศจรรย์จากคนเขียนหน้าใหม่ที่น่าจับตามอง
เป็นงานเชิงทดลองที่ท้าทายความคิดผู้อ่าน และแม้ชายหนุ่มจะเปรยว่าเพิ่งได้รู้จักคำว่า
‘Magical Realism’ (สัจนิยมมหัศจรรย์) มาไม่กี่ปีนี้
แต่กับเรา เราขอทึกทักว่าเขาเป็นคนเล่นกับเรื่อง ‘สัญญะลักษณาการ’
นั้นได้ดี ในงานของเขาบางทีแมวอาจจะพูดได้ หรือจู่ ๆ ปลาทองอาจจ้องหน้าคุณให้หลุดลอยฝันเพ้อ
แหงแหละ ก็ในเมื่อเรื่องสั้นของเขามีลักษณะเป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้อ่านตีความเอง
เราก็เลยตีขลุมไปกับผัสสะที่ตัวหนังสือนั้นจู่โจมรุกเร้าเรามา .
สายวันนั้น
เรานัดกันที่ร้านกาแฟย่านโรงงานแห่งหนึ่งในนนทบุรี ถิ่นที่เขาอยู่และเห็นความเปลี่ยนแปลงมากว่าสามทศวรรษ
ผ่านบทสนทนารายรอบด้วยแมกไม้ประดิษฐ์ประดับร้าน ตอนหนึ่งเขาแอบบอกเล่าถึงภาวะล่มสลายของแถบถิ่นถนนสายนี้ไว้ด้วย
กระทั่งคาเฟอีนซึมสู่ร่างกาย สิ่งต่าง ๆ ทั้งความคิด แรงดลใจ
หลากเรื่องล่มสลาย
เวลาสิบปีที่ทลายตะกอนความคิดเป็นหนังสือเล่มนี้ก็พรั่งพรูออกมาจากคนทำอาชีพจัดเนื้อหาในนิทรรศการในคราบนักเขียนผู้นี้
ภาวะเรื่องสั้นมะเขือเทศฆ่าตัวตาย
"มันเริ่มจากประมาณสิบปีที่แล้ว
รู้สึกว่าร่างกายมันเป็นกรงขังจิตใจ ทำยังไงถึงจะทำลาย อะไรพวกนี้ได้ แล้วค่อย ๆ พัฒนามา
แล้วสุดท้ายก็อย่างที่เห็นแล้วว่า ‘มะเขือเทศฆ่าตัวตาย’
ก็พยายามตีความว่าต้นเหตุของปัญหาคือร่างกาย คือเนื้อของมัน"
และเหตุที่ใช้มะเขือเทศ
ไม่ใช้สิ่งมีชีวิตอื่น นพพรบอกว่าก็ไม่ค่อยมีเหตุผล "จริง ๆ เพราะเห็นว่ามันน่ารักดี
แล้วถ้ามองในแง่การตลาดมันดูป๊อป มองไปไกลกว่านั้นสมมติงานได้รับการแปลเป็นภาษาอื่น
ทั่วโลกก็น่าจะรู้จักอันนี้ มากกว่ามะเขือเปราะ มะเขือยาว" (ภายหลังงานชิ้นนี้ถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยวารสารฉบับหนึ่งของมหาวิทยาลัยโตเกียว)
เมื่อถามถึงความคาดหวัง "ใช่ครับ คาดหวัง แต่ตอนเขียนเสร็จนั้นเก็บไว้เป็นปีเลย
ไม่ได้ส่งไปที่ไหน รู้สึกว่าขนาดมันยาวเกินไปกว่าที่จะลงพื้นที่เรื่องสั้น
ของหนังสือพิมพ์มติชน สยามรัฐ เนชั่นอะไรพวกนั้น คิดว่าแนวมันคงไม่เหมาะด้วย
เรื่องนี้เหมือนพูดอะไรไม่รู้"
เรื่องมะเขือเทศฆ่าตัวตาย
เขาเขียนเสร็จประมาณปี 2556 แล้วทิ้งไว้หนึ่งปี
จนได้ลงช่อการะเกด ซึ่งเป็นสนามประกวดเรื่องสั้น (ตอนนั้นช่อการะเกดฉบับรัฐประหารกับสังคมไทย
ปี 2558) เขารู้สึกว่ามือเรื่องสั้นถ้าได้ลงช่อการะเกดนี่ถือว่าเจ๋งที่สุดแล้ว
กระทั่งบรรณาธิการ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประกาศว่าผ่านการพิจารณาตีพิมพ์ “แค่นั้นก็กรี๊ดแล้วอ่ะ” เขาโพล่งขึ้นมาด้วยความยินดีถึงตอนนั้น
คุณอ่านจบแล้วรู้สึกยังไง?
เมื่อถูกถามด้วยคำถามนั้น
เลยเป็นหน้าที่ที่ต้องตอบบ้าง ว่าเรื่องสั้นของเขา
มีมุมมองของการปลงกับชีวิตอะไรสักอย่าง
สิ่งที่มันจะเกิดขึ้น
อยู่ที่เราเลือกว่าจะมองแบบไหน หรือเป็นอะไรไหม ?
"ผมจะบอกว่าทั้งหมดที่ทำออกมาจะสื่อว่า
ไม่ต้องสนใจคนเขียน ว่าคิดอะไรอยู่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือความคิดของคนอ่าน ณ
ตอนนั้น เพราะว่าศิลปะมันควรจะมีความคลุมเครือ มันไม่ควรจะเล่าตรง ๆ” นักเขียนหนุ่มเปรยไว้อีกครั้ง
นพพรยังเล่าว่าเรื่องนี้มีหลายชั้น
ชั้นแรกคือประสบการณ์ของตัวมะเขือเทศเอง พาคนอ่านเข้าไป ผจญภัย
สมมติว่าคุณเป็นมะเขือเทศคุณจะเจออะไร อะไรแบบนั้นมันคือความสนุกเรื่องราวสนุกสนาน
ชั้นที่สองคือ
ข้อจำกัดจากที่บอกว่า ร่างกายเป็นกรงขังจิตใจ มันคือข้อจำกัดของชีวิต
ถ้ากลับไปดูในเรื่องจะเห็นว่าพยายามเล่นกับข้อจำกัดตลอดทั้งเรื่อง
เพราะคุณเป็นมนุษย์ คุณเลยฟังเสียงอื่นไม่ได้ยิน
คุณเลยมีคลื่นความถี่ที่คุณรับได้ในหูประมาณหนึ่ง จะมีแบบนี้ตลอด
และมะเขือเทศก็มีข้อจำกัดนั้น
แล้วหลากเรื่องราวใน ‘มะเขือเทศฆ่าตัวตาย’ เป็น magical realism ไหม?
"มันเป็นคำขาย สิ่งที่จะพูดจริง
ๆ คือ magical realism มันถูกแปลเป็นไทยว่า ‘สัจนิยมมหัศจรรย์’ เพิ่งได้ยินคำนี้ ไม่กี่ปีนี้เอง"
นักเขียนหนุ่มเล่าต่อไปว่าด้วยรู้สึกชีวิตปกติมันน่าเบื่อ มันมีเหตุผล
มีระบบอะไรที่แน่นอนของมันอยู่แล้ว เลยอยากพาผู้อ่านไปสู่ประสบการณ์พิเศษ อยากสร้างภาวะนั้นขึ้นมาในช่วงเวลาไม่กี่นาทีที่เขาอ่าน
แค่นั้นเอง แล้วในหัวก็มีแต่เรื่องพวกนี้ พอเห็นอะไรที่ธรรมดาก็จะเกิดจินตนาการว่ามันน่าจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้
ตั้งคำถามใหม่ ๆ ว่าถ้ามันมีอะไรที่เราคาดไม่ถึงเกิดขึ้น
สิ่งที่เรารู้สึกจะเป็นยังไง อยากพาคนอ่านไปสู่ภาวะพิเศษในช่วงเวลาสั้น ๆ
นพพรเกริ่นถึงตอนเริ่มเขียนว่าตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยไม่เคยอยู่ชมรมวรรณศิลป์หรือชมรมอะไรเลย
ฝึกเขียนคนเดียว มีเรื่องที่เขียนและได้รางวัลในชมรมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ตอนนั้นก็เขียนไว้เป็นปีและเก็บไว้
จนทราบข่าวเขามีประกาศรับเรื่องสั้นประกวด ก็ส่งไปแล้วก็ได้รางวัล
ตอนนั้นเขาเขียนเรื่องเศรษฐกิจปี 2540 เล่าเรื่องของผู้ชายคนหนึ่ง
ที่ทำงานวงการโฆษณาแล้วได้เงินเดือนเยอะ ๆ แล้วจู่ ๆ เศรษฐกิจมันล่มเขาเลยกลับมาทำงานง่าย
ๆ เงินน้อย ๆ เข้าใจชีวิตมากขึ้น
“มันเป็นเรื่องเชย ๆ
ก็ไมได้ส่งไปตีพิมพ์ที่ไหนหรอก มันไม่เท่ไง มันไม่ดีเด่อะไร
แค่มีโครงสร้างที่จะเป็นเรื่องสั้นได้” เขาสะท้อนถึงชีวิตการเขียนของตัวเองในวันวานนั้น
แล้วตอนเริ่มเขียนจริง ๆ
นพพรเปลือยใจว่าเริ่มจากการอ่านหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะที่เปิดรับเรื่องสั้น
ก็อยากได้ตังค์เรื่องละ 700 บาท
ก็เลยฝึกเขียน “มีแรงบันดาลใจสำคัญคือพี่ ‘ดำรงค์ อารีกุล’ สมัยนี้แกไม่ค่อยเขียนงานใหม่ ๆ ละ
แต่เมื่อก่อนแกคือตัวท็อปของขายหัวเราะเลย ได้แรงบันดาลใจเขียนหนังสือเพราะแกเลยเอาจริง
ๆ นอกจากนั้นคือมาจากความคิดส่วนตัวประสบการณ์ส่วนตัว” และอีกด้านคือความคิดพิเรนท์
ๆ อะไรขึ้นมาได้เลย แล้วหยิบเป็นพล็อตแล้วเอามาพัฒนาต่อ
ส่วนหนังสือที่มีอิทธิพลต่อเขามาก ๆ คือ ‘เมตามอร์ฟอร์ซิส’ ของ ‘ฟรันซ์ คาฟกา’ กับเรื่อง
‘คนหัวหมา’ ที่ ‘ปราบดา
หยุ่น’ แปลของนักเขียนอเมริกันคนหนึ่งชื่อ ‘อาเธอร์ แบรดฟอร์ด’ เป็นรวมเรื่องสั้นเหมือนกัน
"ทั้งสองเล่มบอกว่ามันมีงานแบบนี้ว่ะ!
มันมีคนที่เขียนเรื่องจนจบ พิลึกพิลั่น และสามารถทำให้มันออกมาเป็นเรื่องได้จริง ๆ”
แต่เรื่องแรกที่กระแทกใจชายหนุ่มจริง
ๆ คือ เมตามอร์ฟอร์ซิส(กลาย)
“สมัยนั้นต้องหาอ่านเอง
อย่างตอนเป็นวัยรุ่นกว่านี้อยากอ่าน ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ (นวนิยายจาก กาเบรียล กาเซียร์ มาเกซ นักเขียนรางวัลโนเบล ชาวโคคอมเบีย) มาก
มันหาไม่ได้มันหายไปจากท้องตลาดนั้นแล้ว แล้วก็สมัยนี้จะเห็นว่าหนังสือแปลเยอะมาก
ในขณะที่สมัยนั้นหายาก หนังสือแปลก ๆ หายาก ส่วนใหญ่ก็อ่านงานคนไทย”
นพพรจึงเห็นว่า Magical Realism มันมาทีหลัง
หลังจากที่พัฒนางานตัวเองไปแล้ว โดยไม่รู้จะเรียกงานตัวเองว่าอะไร
แล้วเขาคิดไปถึงการให้คำจำกัดความอะไรพวกนี้ มันเป็นเรื่องของคนอ่าน
และของนักวิจารณ์เลยไม่รู้ว่าตัวเองเขียนแนวอะไร
ส่วนวงการวรรณกรรมไทยเท่าที่รู้สึก
เขาตอบในฐานะคนสังเกตการณ์ว่ามันเปิดกว้างมากขึ้น มีสำนักพิมพ์เล็ก ๆ เอางานแปลก ๆ
มาแปล รู้สึกมันจะเติบโตขึ้น หางานดี ๆ อ่านง่ายขึ้น
แต่ถ้าการสร้างงานไม่รู้เหมือนกัน ส่วนกับงานตัวเอง มีช่วงที่ติดขัดตอนสร้างงาน “ไม่ติดคือจะใช้เวลาสิบปีเหรอ
หนึ่งคือฝีมือไม่ถึง เราคาดหวังกับตัวเองว่าจะเป็นงานลักษณะนี้ แต่ฝีมือไม่ถึงก็ฝึกเขียนอยู่นั่นแหละ”
ส่วนข้อสอง “อาจจะเป็นเรื่องของวินัย
วินัยในการฝึก แต่อาจจะไม่ทั้งหมด เป็นเรื่องของวุฒิภาวะ รสนิยม
ที่ต้องรอเวลาจนกระทั่งมันเต็มน่ะ ถึงจะรู้ว่าจะทำแบบนี้ได้ยังไง มันเป็นการเติบโตน่ะ”
การนำศิลปะและศาสตร์แขนงอื่นมาใส่ในงานเขียน?
“ก็เสพงาน ดูหนัง ฟังเพลง
อ่านหนังสือ ดูงานศิลปะ เพลงก็ฟังเรื่อยเปื่อยหลายแนว ดนตรีทดลอง อะไรแปลก ๆ คือพยายามฟังอะไรให้มันกว้างไว้แค่นั้น”
เขายังเล่าถึงเรื่อง ‘วิลาสินี’ ที่ปรากฏเรื่องแรกในเล่ม เอาเพลงของ ‘คุณหญิงพวงร้อย
สนิทวงศ์’ มาประกอบเจือบรรยากาศ เพราะเห็นว่ามันเศร้า
มันงดงาม มันสวยงาม ผู้หญิงคนนั้นเหมือนอยู่ในโลกของเธอ
ซึ่งไม่สัมผัสและไม่เชื่อมกับความเป็นจริงภายนอก ส่วนเรื่อง ‘ฝนเดือนหก’ นั่น ฟังเพลงของ ‘รุ่งเพชร
แหลมสิงห์’ แล้วก็รู้สึกว่ามันมีสัญลักษณ์อยู่ในนั้น
จึงเอามาใช้เป็นสัญลักษณ์
“ในเนื้อเพลงมันจะพูดถึงวงจรของธรรมชาติ
เมื่อถึงเดือนหกซึ่งไม่ใช่เดือนมิถุนายนนะ มันจะเป็นเดือนห้าถ้านับแบบจันทรคติมันคือหน้าฝน
ฝนแรกพอมีฝนมาก็จะมีกบร้อง เพราะว่ากบมันได้ฝนแรกอะไรก็ว่าไป เป็นภาพสะท้อนถึงวงจรที่เป็นปกติของธรรมชาติ
มันคือแบบนั้นแหละ ฟังเพลงแล้วก็ปิ๊งขึ้นมา”
เขายังบอกอีกว่าจริง ๆ ฉากในนั้นก็คือแถวนี้
เมื่อก่อนเป็นท้องนาหมดเลยสามสิบปีที่แล้ว เป็นท้องนาแล้วก็เลี้ยงควาย
แล้วมันก็ค่อย ๆ เปลี่ยน ก็คือส่วนหนึ่งของงานก็จะมาจากแรงบันดาลใจชีวิตจริง เพราะเห็นสิ่งต่าง
ๆ มันเปลี่ยนไป
ส่วนเรื่อง ‘ดาว’ คือเอาบทบันทึกและเหตุการณ์จริง
ๆ รอบตัวของเขาบ้างของเพื่อนบ้างเอามาเขียน เช่นเล่นไพ่หลังห้อง ดูหนังสือโป๊
ส่วนเหตุการณ์ที่กินปลาทองก็คือเรื่องจริงจากอีกโรงเรียนหนึ่งที่เคยได้ยินมา
“จริงไม่จริงก็บันทึกไว้ เขียนไว้นานแล้ว ไม่รู้จะลงส่งที่ไหน เห็น ‘อุทิศ เหมะมูล’ มาทำนิตยสารไรเตอร์ คิดว่าน่าจะคุยกันรู้เรื่อง
น่าจะชอบงานแบบนี้ ก็เลยลองส่งไป”
ส่วนตอนสุดท้ายจาก 8 ตอนของร่วมเรื่องสั้นนี้คือ คือ ‘ปลาวาฬ’ เขาบอกว่า เปรียบเหมือนเพลงบรรเลงจบ
กระทั่งเราสงสัยว่ามันมีลักษณะ Interlude (ดนตรีบรรเลงระหว่างฉาก)
ในงานเขียนด้วยเหรอ?
“เฟี้ยวป่ะ ?” คือคำถามที่นักเขียนย้ำคืน แล้วกล่าวด้วยน้ำเสียงภูมิใจว่าถ้ามองว่าอันนี้เป็นอัลบั้มเพลง
มันก็จะมีการเรียงของเพลง ทั้งหนัก ทั้งเบา ก็ว่าไป “พอเราฟังบางอัลบั้มเพลงมันก็จะมีเพลงบ้า
ๆ บอ ๆ สักเพลงเข้ามาใส่เพราะว่าศิลปินรู้สึกสนุก ก็เลยทำไปอย่างนั้นแหละ”
และยังบอกอีกว่า “ถ้าอย่างชุด YKPB ของพี่โป้ โยคี เพลย์บอย มันจะมีเพลงกีต้าร์โปร่งเพลงหนึ่งสั้น ๆ
ดูเหมือนไร้สาระหน่อย ๆ เลยคิดว่าทำได้ ก็เลยทำบ้าง
เรื่องมันก็คือการบันทึกความรู้สึกแวบหนึ่ง ที่เราเกิดเข้าใจชีวิตบางอย่างขึ้นมา โดยไม่บอกว่าเราเข้าใจอะไร”
เมื่อนักเขียนผจญ(ภัย)พิบัติ
นพพรบอกว่ามีเรื่อง ‘ฝนเดือนหก’ ที่รู้สึกว่าเป็นความล่มสลายของสังคมเกษตรกรรม จากการพัฒนาเมือง
พัฒนาสังคม คือสังคมเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานของสังคมไทย แล้วมันล่มสลายจากการพัฒนาเมืองเข้ามา
สารของเรื่องนี้คือสิ่งนี้เท่านั้นเอง
ในเรื่องนั้นจะบอกว่า
เราลืมพื้นฐานของภูมิประเทศนี้ ซึ่งมันมีความอุดมสมบูรณ์ แต่เราไปในทิศทางอุตสาหกรรม
ก็จะเห็นว่ามันมี Symbolic ที่น่าขยะแขยงหลายอย่าง มีสิ่งผิดปกติหลายอย่าง
“ใส่เข้าไป อัดเข้าไป เต็มที่
สนุกดีตอนเขียน เรื่องนั้นน่าจะเป็นเรื่องเดียวที่พูดถึงความล่มสลายชัดเจนที่สุด
ตอนนั้นเกิดที่กรุงเทพฯ และย้ายมาที่นี่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว
อยู่ในซอยตรงกันข้ามนี่แหละ เห็นตั้งแต่ที่นี่เป็นท้องนา เป็นคูน้ำ เป็นถนนสองเลน
ที่เหลือก็เป็นพงหญ้าเป็นอะไรไป มีความเสียดายธรรมชาติของนนทบุรีที่เราเห็น”
เขายังบอกอีกว่า
"จริง ๆ อยากเล่าของปี 2554
ขวบปีที่น้ำท่วมหนักน่ะ แถวนี้ประมาณเมตรกว่า(เขาชี้ภาพให้ดู) ตรงนี้เป็นคลอง
เรือแม่งวิ่ง รถทหารวิ่ง คนก็วุ่น ฉิบหายวายป่วง เละเทะอ่ะ”
ด้วยต้องหนีไปอยู่ที่อื่น
อพยพไป เพราะเข้าบ้านไม่ได้เลย เป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตเขาพอสมควร
จึงอยากเขียนมันออกมา ตอนนั้นก็เศร้าโศกต้องออกจากบ้านไปเป็นเดือน
คงเป็นเหตุการณ์ที่เซอร์เรียล
เหนือจริง เหมือนในหนัง หมู่บ้านที่คนอยู่เป็นร้อยเป็นพัน ร้าง คนหายเงียบหมด
น้ำท่วมเต็ม มันมีภาวะที่น่าสนใจอยู่ตรงนั้น มันคือเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก
น่าหยิบเอามาเขียน “อาจจะเอามาใช้เป็นฉากเฉย
ๆ ก็ได้ มันเป็นวัตถุดิบที่มีค่า ส่วนเรื่องล่มสลายอื่น ๆ ที่นักเขียนคนนี้สนใจคือ
“เรื่องพลาสติกมันเกิดการผลิตและใช้ เกิดขยะจำนวนมาก
สุดท้ายมันแตกสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกขนาดเล็ก ในทะเล อันนี้ก็น่าเล่นมาก
แต่ก็ยังคิดไม่ออก เก็บไว้ก่อน”
รสเรื่องล่มสลายที่อยากเล่า
นพพรยังรับอีกว่า “จริง ๆ เราหมกมุ่นกับเรื่องโลก
มันเลวร้ายอะไรพวกนี้ ตั้งแต่วัยรุ่น รู้สึกหดหู่ พออายุมากขึ้นแก่มากขึ้น
ก็มีความเข้าใจในชีวิตมากขึ้นว่า โลกมันเป็นแบบนี้แหละ ‘ปราบดา
หยุ่น’ เคยเขียนว่ามันเป็นธรรมชาติที่ต้องโดนทำลาย เป็นวงจร
ถ้ามองว่าเป็นธรรมชาติมันก็แค่นั้น โลกไม่ได้แย่ หรือถูกทำลายเป็นครั้งแรก
ในสมัยตอนกรุงศรีอยุธยาแตกปี 2310 คนก็คงรู้สึกว่าชีวิตแย่เหมือนกัน”
เขากล่าวเสริมว่าเมื่อเวลาผ่านไปมันก็ฟื้นฟูขึ้นมาได้
หรือยกตัวอย่างตอนตอนไดโนเสาร์สูญพันธ์โลกก็คงแย่ มันก็เป็นวงจร ก็เกิดใหม่
เลยสรุปได้ว่าชีวิตก็ควรมีความหวัง อย่าหดหู่กับมัน โลกมันจะล่มสลายแค่ไหน เราก็มีส่วนเลือกได้ที่จะทำให้มัน
เจ๊งเร็วขึ้นหรือเจ๊งช้าลง ชีวิตคุณสามารถเกื้อกูลคนอื่นได้ อย่างน้อยต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ดี
โลกข้างนอกมันแย่ ข้างในไม่จำเป็นต้องแย่ตาม
“ไม่ว่าเหตุการณ์ข้างนอกจะเป็นยังไงก็แล้วแต่
ในใจคุณอย่าแย่ คุณสร้างได้ ขอให้ความหวังและก็ทำมัน คุณเปลี่ยนโลกตัวเองข้างในได้ตลอดเวลา”
โดยรวมเขาพยายามบอกเราว่าหากมองแต่ด้านดาร์ก
ๆ จะหดหู่ ถ้าโตขึ้นแบบเขาจะเข้าใจชีวิตขึ้น “ก็จะบอกว่าจริง ๆ ในวิกฤตมันก็มีโอกาสเสมอ
เราต้องอยู่ในข้อจำกัดนั่นแหละ” แล้ว “ซึ่งถ้าตีความในคำพยากรณ์หรือศาสนาไม่ว่าคุณจะเป็นมนุษย์หรือมะเขือเทศ
เราก็มีอายุขัยจำกัด ควรจะทำประโยชน์เร่งพัฒนาตัวเองเพื่อฝึกฝนจิตใจอะไรก็แล้วแต่”
เป็นวาทะทิ้งท้ายจากคนเขียนมะเขือเทศฆ่าตัวตายเมื่อช่วงสายวันนั้น
-Z-
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย
Weerawatt Nak
สั่งซื้อ มะเขือเทศฆ่าตัวตาย
ได้จากร้าน ZOMBIE BOOKS
มะเขือเทศฆ่าตัวตาย
_______
"เรื่องสั้นชื่อประหลาด
มะเขือเทศฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องสั้นแนวทดลอง อย่างแน่นอน
และจัดเป็นงานเขียนในชั้นเชิง Magical Realism ที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งนักในฐานะที่เป็นชิ้นงานของ
'หน้าใหม่ มือใหม่' " - สุชาติ
สวัสดิ์ศรี
งานของนักเขียนหน้าใหม่อีกคนที่ส่งมาให้เราทางไปรษณีย์และมีคำการันตีท้ายปกอย่างที่ท่านได้อ่านไปแล้ว
8
เรื่องสั้นกับหนังสือขนาดเหมาะมือโดยฝีมือการเขียนของ นพพร
สันธิศิริ-ที่เขาโปรยปกไว้ว่า
รวมเรื่องสั้นอ่านเล่นสำหรับเย็นวันอาทิตย์-ใครที่พอมีเวลาว่างในเย็นวันอาทิตย์ก็น่าสนใจไม่น้อย
_______
ZOMBIE BOOKS
|